หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

BCPGพชย ชณหวชร


BCPG ศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม ตปท. ขนาด 600 MW คาดชัดเจนใน 2-3 เดือน

        นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในต่างประเทศ ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีโครงการใน Short List ราว 2,000 เมกะวัตต์

      โดยการจะเข้าลงทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่บริษัทต้องการมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 60 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในไทยและฟิลิปปินส์

      "พลังงานลมเดินเครื่องได้ 6-10 ชั่วโมง วันนี้เกาหลีขึ้นเยอะ เกาะเชจู เวียดนาม ใบอนุญาตก็ออกมาเยอะ ไต้หวัน ก็มีโอกาส ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ลมด้วยเทคโนโลยีใหม่ นับว่าดีกว่าโซลาร์แล้ว...ช่วงนี้เราอยู่ระหว่างจัดทัพ ตั้งทีมงานขึ้นมาดู ตอนนี้ก็กำลังศึกษาอยู่ 1 โครงการ ขนาด 600 เมกะวัตต์"นายพิชัย กล่าว

     นายพิชัย กล่าวว่า การที่บริษัทหันมาให้ความสนใจพลังงานลมในช่วงนี้ เนื่องจากการแข่งขันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ค่อนข้างมากและให้มาร์จิ้นต่ำ ประกอบกับผลิตไฟฟ้าได้เพียง 4-5 ชั่วโมง/วัน เมื่อเทียบกับพลังงานลมสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 6-10 ชั่วโมง/วัน และด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นจากเดิม 2.5 เมกะวัตต์/ต้น เป็น 4 เมกะวัตต์/ต้น ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ประกอบกับภูมิภาคนี้มีแหล่งพลังงานลมที่ดีอย่างในเกาหลีใต้ เวียดนาม และไต้หวัน เป็นต้น

     รวมถึงยังให้ความสนใจโครงการพลังงานลมในบังคลาเทศ แต่ยังมีความเสี่ยงในเชิงนโยบาย และยังต้องการสนับสนุนจากสหประชาชาติด้วย

     นายพิชัย กล่าวอีกว่า นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมแล้ว บริษัทยังให้ความสนใจการผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่สามารถผลิตไฟฟ้า 24 ชั่วโมง โดยสนใจลงทุนในญี่ปุ่นที่มีการส่งเสริมและรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่ดีราว 24 เยน/หน่วย แต่ยังติดปัญหาเรื่องของเชื้อเพลิงที่ต้องจัดหาระยะยาวเป็นเวลา 10-15 ปี โดยบริษัทอยู่ระหว่างมองโอกาสจัดหาเชื้อเพลิงในรูปของชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellets) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งการมองโอกาสลงทุนโครงการโซลาร์ในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน แต่ต้องได้ผลตอบแทนที่ดีมีกำไรประมาณปีละ 5 ล้านบาท/เมกะวัตต์ จากปัจจุบันโครงการโซลาร์ในญี่ปุ่นทำกำไรได้ราวปีละ 2 ล้านบาท/เมกะวัตต์

     รวมถึงมองโอกาสลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนในลาว ส่วนการลงทุนในไทย น่าจะยังจำกัดในโครงการขนาดเล็กอย่างการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น

      นายพิชัย กล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนกลยุทธ์องค์กรใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะยังมองการลงทุนทุกพื้นที่ที่มีโอกาส โดยเฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิก แต่จะเลือกการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น ซึ่งคาดว่าแผนกลยุทธ์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมิ.ย.นี้

   ปัจจุบัน BCPG มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 571 เมกะวัตต์ ในไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเป็นโครงการที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 381 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 190 เมกะวัตต์

          อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!