หมวดหมู่: มติ ครม.

GVO


แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562

 

    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ

 

สาระสำคัญ

     คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และอำเภอ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

               1. หัวข้อในการรณรงค์'ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร'

               2. ช่วงเวลาการดำเนินการ กำหนดเป็น 3 ช่วง ดังนี้

               2.1 ช่วงประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม – 17 เมษายน 2562

               2.2 ช่วงเตรียมความพร้อมและการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม-10 เมษายน 2562

               2.3 ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2562

               3. วัตถุประสงค์

               3.1 เพื่อกำหนดเป้าหมาย มาตรการ แนวทางการดำเนินงาน ของหน่วยงานต่างๆ ในการบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุและป้องกันการเกิดอุบัติภัยอื่นๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562

               3.2 เพื่อให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 ไปเป็นกรอบแนวทางในการบูรณาการการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และมีเอกภาพ รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 ของแต่ละหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ

               3.3 เพื่อกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562

               4. เป้าหมายการดำเนินการในภาพรวม

               เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562

               5. ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน

               5.1 สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (Admit) ลดลง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง

               5.2 จำนวนอำเภอที่มีความเสี่ยงในระดับสีแดง และสีส้ม มีจำนวนลดลง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง

               5.3 จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ของอำเภอที่มีความเสี่ยงในระดับสีแดง สีส้ม และสีเหลือง มีสถิติลดลง โดยสามารถลดระดับความเสี่ยงเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง

               6. การประเมินความเสี่ยง

               ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้นำหลักเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงพื้นที่ของปัญหา ตามระบบการเตือนภัยของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 มาวิเคราะห์จากจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง (พ.ศ. 2559 – 2561) และกำหนดให้มีระดับของความเสี่ยง 4 ระดับ ดังนี้

               สีแดง หมายถึง สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูงสุดโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ขึ้นไป

               สีส้ม หมายถึง สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูงโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ตั้งแต่ 1.00 – 1.99

               สีเหลือง หมายถึง สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย โดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ตั้งแต่ 0.01 – 0.99

               สีเขียว หมายถึง สถานการณ์อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลเท่ากับ 0.00

               ผลการประเมินความเสี่ยงของอำเภอตามหลักเกณฑ์ สถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง (พ.ศ. 2559 – 2561)

ลำดับ / ระดับความเสี่ยง / ช่วงเทศกาลสงกรานต์

1. อำเภอในระดับความเสี่ยงสีแดง / จำนวน 29 อำเภอ

2. อำเภอในระดับความเสี่ยงสีส้ม / จำนวน 109 อำเภอ

3. อำเภอในระดับความเสี่ยงสีเหลือง / จำนวน 695 อำเภอ

4. อำเภอในระดับความเสี่ยงสีเขียว / จำนวน 45 อำเภอ

7. มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน

               ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในทุกมิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) นำมาตรการไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จำนวน 7 มาตรการ ดังนี้

7.1 มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน ประกอบด้วย

1) ด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง

2) ด้านสังคมและชุมชน

3) ด้านการสร้างการรับรู้และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน

4) การดำเนินการด้านมาตรการองค์กรของหน่วยงานภาครัฐ

7.2 มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม

7.3 มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ

7.4 มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ

7.5 มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ

7.6 มาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว

7.7 มาตรการบริหารจัดการ

     ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90SIAM790x90

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!