หมวดหมู่: คลัง

01 สมคด โชวผลงาน


รัฐวิสาหกิจโชว์ผลงานโดดเด่นตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 'สมคิด' โชว์ผลงานรัฐบาลผ่าน รัฐวิสาหกิจ 4 ปี

        สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน และมีรัฐวิสาหกิจ 8 แห่ง เข้าร่วมการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (กรุงไทย) ธนาคารออมสิน (ออมสิน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นอกจากนี้ ได้เชิญกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมากล่าวถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ชาติด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลและการลงทุน

        นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และช่วยผลักดันให้งานต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจดำเนินการได้อย่างราบรื่น รวมทั้งสนับสนุนรัฐวิสาหกิจให้สามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนต่อไป ซึ่งได้แบ่งรัฐวิสาหกิจทั้ง 8 แห่ง เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และกลุ่มพลังงาน โดยสามารถสรุปการรายงานความคืบหน้าในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

     . กลุ่มสถาบันการเงิน มีบทบาทต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นกำลังหลักในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและหนี้นอกระบบ รวมทั้งยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินได้รายงานผลการดำเนินงานของโครงการที่สำคัญ เช่น

 

กรุงไทย

        การวางระบบ Digital Payment Super Highway ทุกตำบลทั่วประเทศตามนโยบาย MOF 4.0 เพื่อผลักดันสู่สังคมไร้เงินสด

        โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในรูปแบบ e – Wallet สำหรับคนไทย 14 ล้านคน ร่วมกับ ธกส. และออมสิน ทำให้สามารถกระจายความช่วยเหลือถึงมือประชาชนได้แล้วกว่า 76,000 ล้านบาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และจะขยายไปสู่ Mobile Application รวมทั้ง สร้าง Digital Platform ให้ร้านค้าประชารัฐสร้างเงินหมุนเวียนกว่า 30,000 ล้านบาท

       การวางโครงสร้างระบบของการจ่ายเงินในระบบการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า และรถโดยสารระหว่างจังหวัด

       การสนับสนุนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยการต่อยอดสร้างกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล

 

ออมสิน

       โครงการ National e-Payment รองรับสังคมไร้เงินสด โดยมีผู้ลงทะเบียน 2.75 ล้านราย มีจุดชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 1.95 แสนจุดทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการ Mobile Banking 5.4 ล้านราย และผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ 6.6 ล้านราย

      การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่าน 3 กลไก ได้แก่ 1) การสร้างความรู้/อาชีพโดยการส่งเสริม และสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ 2) การสร้างช่องทางตลาดเพื่อสร้างรายได้โดยการเพิ่มจุดค้าขายทั้ง Online และ Offline และ 3) การสร้างประวัติทางการเงินผ่านการใช้ธุรกรรมทางการเงินโดยให้รับชำระเงินผ่าน QR code

       โครงการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้านการเงินและอาชีพ 502,586 ราย และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีผู้มีบัตรฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 258,725 ราย

       แผนงานส่งเสริมผู้ประกอบการ SME/Startup โดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ SMEs การให้สินเชื่อ GSB SMEs/Startup และการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน Venture Capital

 

ธกส.

       การสนับสนุนการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ข้าว และยางพาราผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน และการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตร SMEs ผ่านโครงการ SMAEs

       การพัฒนาผู้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ลงทะเบียน โดยมีการให้ความรู้ทางการเงิน การผลิต และการตลาด รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรการและการพัฒนาอาชีพของผู้มีบัตรฯ

 

ธอส.

       โครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งเป็นสินเชื่อบ้านเพื่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ มียอดจองทั่วประเทศกว่า 127,000 ล้านบาท

       โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มีโครงการช่วยเหลือผู้ที่อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนภายใต้และโครงการช่วยเหลือประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่รับราชการให้มีบ้าน

 

ธพว.

      การให้สินเชื่อผู้ประกอบรายย่อยผ่านโครงการคนตัวเล็กรวมมากกว่า 64,037 ราย จำนวน 157,617 ล้านบาท

       การยกระดับขีดความสามารถให้ SMEs ขนาดเล็ก ผ่านการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ปีละมากกว่า 5,500 ราย โดยเป็นพี่เลี้ยงด้านการบัญชีและการเงิน และด้านการตลาดให้กับ SMEs

               

2. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

                โดยการลดต้นทุนการขนส่งคนและสินค้าผ่านการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง ของ รฟท. และโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม. ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีโครงการสำคัญที่สามารถผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น

รฟท.

                การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปี 2561 มีทางรถไฟ 4,044 กม. เป็นทางคู่ 357 กม. มีเป้าหมายในปี 2566 มีทางรถไฟ 4,360 กม. เป็นทางคู่ 2,464 กม. และรถไฟความเร็วสูง 473 กม. โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่

                โครงการรถไฟทางคู่ จำนวน 14 เส้นทาง ได้รับอนุมัติแล้ว 8 โครงการ และจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2567

                โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ทางรถไฟช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม (แล้วเสร็จปี 68) และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (แล้วเสร็จปี 66)

                รถไฟความเร็วสูง จำนวน 2 สาย ได้แก่ กรุงเทพ-นครราชสีมา (แล้วเสร็จปี 66) กรุงเทพ-อู่ตะเภา (แล้วเสร็จปี 66)

                โครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ประกอบด้วย สายบางซื่อ-รังสิต สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน (แล้วเสร็จปี 64) สายรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สายตลิ่งชัน-ศาลายา สายตลิ่งชัน-ศิริราช (แล้วเสร็จปี 66) สายบางซื่อ-หัวลำโพง และสายบางซื่อ-หัวหมาก (แล้วเสร็จปี 67)

      ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการอนุมัติเส้นทางรถไฟไปแล้ว 900 กม. ซึ่งสูงกว่าการพัฒนาเส้นทางรถไฟในช่วง 68 ปีที่ผ่านมาที่พัฒนาไปเพียง 700 กม.

 

รฟม.

       การพัฒนารถไฟฟ้าตามแผนแม่บทการขนส่งทางราง 10 เส้นทาง โดยในปี 2572 จะมีระยะทางรวม 504 กิโลเมตรปัจจุบัน มีโครงการรถไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติและอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่

       สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค (อยู่ระหว่างดำเนินการวางระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถ)

      สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี (PPP) (อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา)

       สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง (PPP) (อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา)

      สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (งานโยธา) และช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ (PPP) (อยู่ระหว่างเสนอ ครม. อนุมัติโครงการ)

      สายสีม่วง (ตอนล่าง) ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายงาน PPP)

      นอกจากนี้ มีแผนงานที่จะพัฒนารถไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ในจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก และอุดรธานี

 

3. กลุ่มพลังงาน เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

      โดยในปัจจุบัน ปตท. มีโครงการที่สำคัญ เช่น การจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ

      โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบสถานีบริการให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชนและ SMEs

      ในลำดับถัดมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวเพิ่มเติมถึง การดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงินมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยต้องเป็นหลักในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเป็นหนี้นอกระบบ และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น Internet Banking e-Payment เป็นต้น นอกจากนี้ การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมยังช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ

       ในส่วนของการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง มีภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ และการรักษาวินัยการเงินการคลัง โดยมีผลงานสำคัญของกระทรวงการคลัง ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 14.5 ล้านคน ให้สามารถจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งช่วยให้เกิดกิจกรรม

      ทางเศรษฐกิจมีการผลิตสินค้าและเกิดการจ้างงานสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การทำงานของกระทรวงการคลังจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบให้เป็นไปตามหลักวินัยการเงินการคลัง

      ในช่วงท้าย รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณรัฐวิสาหกิจที่ช่วยผลักดันงานต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างดี และได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจเดินหน้าสานต่องานต่างๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จต่อไป เพราะเห็นได้อย่างชัดเจนว่างานต่างๆ ที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

 

สมคิด อวดผลงานรัฐฯ ผ่านรสก. ยัน 4 ปี มาช่วยฟื้นฟูศก.

      สมคิด โชว์ผลงานรัฐบาลผ่าน รัฐวิสาหกิจ 4 ปี ฝากทุกหน่วยอย่ายึดติดตัวบุคคล เดินหน้าสานงานต่อแม้เปลี่ยนรัฐบาล แขวะให้พรรคการเมืองมาดูผลงาน จะได้ไม่ต้องคิดเวลาหาเสียง ยันไม่เคยสร้างความเสียหายประเทศ    

       นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของชาติ ว่า เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปได้ต้องพึ่งพาทั้งนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนโยบายการคลัง ที่กระทรวงการคลังทำผ่านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีการดำเนินมาตรการจำนวนมาก เพราะเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว ทำงานได้เร็ว มีผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของประเทศ แต่ที่ผ่านมากลับมีแต่ข่าวว่ารัฐวิสาหกิจไม่มีผลงานออกมา

     ส่วน ผลงานของรัฐวิสาหกิจในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาได้ปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หนุนให้เกษตรกรทำเกษตรแปลงใหญ่มากขึ้น ธนาคารออมสิน เน้นการปล่อยกู้เพื่อผู้มีรายได้ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำมีโอกาสมีอาชีพ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ (ธ.พ.ว.) มีการปล่อยกู้เอสเอ็มอีรายเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ดำเนินนโยบายบ้านล้านหลัง เพื่อให้คนไทยมีบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งได้รับความสนใจผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก และไม่มีรัฐบาลไหนคิดจะทำมาก่อน เป็นต้น

      สำหรับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ผ่านมาถูกมองเป็นองค์กรที่ไม่มีอนาคต รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ให้ความสำคัญ เทงบประมาณไปที่กรมทางหลวงเพื่อสร้างถนน เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับเรื่องคมนาคมระบบราง ก่อนรัฐบาลนี้ รฟม. มีการดำเนินระบบราง 4 เส้นทาง แต่รัฐบาลนี้มีการดำเนินการเพิ่มถึง 8 เส้นทาง

      “ตั้งแต่เข้ามาทำงานได้ 4 ปี ขอให้คลังส่งผลงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดให้พรรคการเมืองได้รู้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาคิดมาตรการมาหาเสียง เพราะมาตรการที่หาเสียงมานั้น รัฐบาลนี้ทำหมดแล้ว ไม่ต้องคิดนโยบายใหม่ๆ แล้ว แค่เข้ามาสานต่อมาตรการของเก่าที่รัฐบาลนี้ทำก็พอ   ไม่ใช่เอาแต่แขวะกันว่า 4 ปีนี้รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ต้องเร่งเข้ามาฟื้นฟูซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลนี้ต้องเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลก่อนๆ ทำเสียหายไว้” นายสมคิด กล่าว

       ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับฟังการหาเสียงจากพรรคการเมืองมาจำนวนมาก และโดนกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลนี้ทำงานจำนวนมาก และเรื่องที่พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงรัฐบาลนี้ก็ดำเนินการแล้ว โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง ได้มีมาตรการจำนวนมากช่วยเหลือผู้มีรายได้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

      ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการของรัฐบาล จะเน้น 3 ด้านที่สำคัญได้แก่ 1 โครงการต้องสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน 2 ลดความเหลื่อมล้ำ และ 3 อยู่ในวินัยการเงินการคลัง ซึ่งการดำเนินการมาตรการต่างๆ ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะต้องดูว่าการดำเนินมาตรการต่างๆ ต้องมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่สร้างภาระการคลังเกินกฎหมายกำหนด ไม่ได้เป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อแจกเงินเฉยๆ โดยที่ไม่ได้ผลทางเศรษฐกิจอย่างที่มีคนกล่าวหา

 

NSC เผยก.พ.62 มี Startup รับการสนับสนุนจากรัฐ 53 ราย วงเงิน 1.42พันลบ.

       คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ รายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการ เดือนก.พ.62 มี Startup ลงทะเบียน NIA จำนวน 1,700 ราย ได้รับการรับรองจาก สวทช. แล้ว 144 ราย ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 53 ราย วงเงินรวม 1,428.2 ล้านบาท

        นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) (คณะกรรมการฯ) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลและภาคเอกชน ตั้ง SPACE-F เร่ง FoodTech โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

1. จำนวน Startup ในประเทศไทย

                1.1 จำนวน Startup ที่ลงทะเบียนกับ http://startupthailand.org ของ NIA มีจำนวน 1,700 ราย

                1.2 จำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (SMEs/New Startup) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 658) พ.ศ. 2561 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของ SMEs/New Startup เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มี SMEs/New Startup ที่จดทะเบียนและ ยื่นขอรับการรับรองกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้ว จำนวน 198 ราย ได้รับการรับรองจาก สวทช. แล้ว จำนวน 144 ราย และได้ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรแล้ว จำนวน 114 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 10 ราย 8 ราย และ 3 ราย ตามลำดับ

                1.3 จำนวน Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านการร่วมลงทุนกับธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มียอดรวมของการอนุมัติการร่วมลงทุนใน Startup แล้ว จำนวน 53 ราย วงเงินรวม 1,428.2 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1 ราย มูลค่าวงเงินลงทุน 35 ล้านบาท) โดยมี Startup จำนวน 22 ราย ที่ได้รับการร่วมลงทุนแล้ว คิดเป็นเงินร่วมลงทุน 511.8 ล้านบาท

 

2. จำนวนกลุ่มนักลงทุนในประเทศไทย

                2.1 จำนวนกลุ่มนักลงทุนที่ลงทะเบียนกับ Web Portal ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนเข้าลงทะเบียนบนเว็บไซต์ http://startupthailand.org แล้วจำนวน 400 ราย

                2.2 กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity Trust: PE Trust) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 เพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย เป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีผู้จดแจ้งการเป็น VC และ PE Trust กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จำนวนทั้งสิ้น 39 ราย

3. กิจกรรมสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

                3.1 โครงการ Startup Thailand League 2019 : Coaching Camp ครั้งที่ 1 ภาคเหนือ NIA จัดโครงการ Startup Thailand League 2019 : Coaching Camp ครั้งที่ 1 ขึ้นเมื่อวันที่ 22 – 24 กุมภาพันธ์ 2562 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การเริ่มต้นเป็น Startup จากทีมโค้ชผู้มีประสบการณ์กับ Startup พร้อมสอนเทคนิคความรู้และคำแนะนำ รวมทั้งมีการจำลองเหตุการณ์ Pitching ก่อนลงแข่งขันจริง โครงการดังกล่าวจะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งที่ 2 จัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างวันที่ 1 – 3 มีนาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และครั้งถัดไปจะจัดขึ้นที่ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา นักศึกษาที่สนใจโครงการดังกล่าวสามารถสมัครเข้าร่วมฟรีได้ที่ http://startupthailandacademy.org/uleague

                3.2 โครงการ Chiangmai TechFest 2019 NIA ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดโครงการ Chiangmai TechFest 2019 ขึ้น เมื่อวันที่ 11 – 17 กุมภาพันธ์ 2562Chiangmai&Co Coworking Space ด้านเทคโนโลยีของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นของนักพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ท้องถิ่นในบรรยากาศแบบเป็นกันเอง นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัด Workshop ในเรื่องต่าง ๆ เช่น Bitcoin & Blockchain 101 และ Internet of Things (IoT) ด้วย

                3.3 NIA ร่วมมือกับบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้ง SPACE-F เร่ง FoodTech ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ รศ. ดร. สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามเป็นพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง “SPACE-F” โครงการด้าน FoodTech Incubator and Accelerator Program เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2019 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง DeepTech Startup ด้านอาหารให้กับประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่าการส่งออกจำนวนมาก แต่ยังไม่มี Startup ที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูงในอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ พันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งโครงการที่มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาจะให้ความช่วยเหลือ Startup ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ NIA จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระบบนวัตกรรมและสนับสนุนเงินทุน ภาคเอกชนผู้ส่งออกอาหารจะให้ความรู้ Know How ในการทำตลาดจริง และภาคการศึกษาให้ความสนับสุนนด้านสถานที่ ห้องปฏิบัติการงานวิจัย นักวิจัย องค์ความรู้ ตลอดจนผลงานวิจัย โดย NIA คาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการ SPACE-F ภายในเดือนพฤษภาคม 2562 และตั้งเป้าว่าจำนวนวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!